Custom Search

Sunday, January 4, 2009

เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์รุ่นใหม่ จะถูกติดตั้งตามพื้นถนน ผนังอาคาร และหน้าต่าง

คุณเคยสงสัยบ้างหรือเปล่าว่าเราจะสามารถผลิตพลังงานได้มากเท่าไรหากมีการติดตั้งเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ตามทางเดิน ถนนหนทาง รางรถไฟ กำแพง หลังคา และหน้าต่าง ในอีก 5 ปีข้างหน้า พลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นทางเลือกที่มีราคาไม่แพง

ปัจจุบันวัสดุและกระบวนการผลิตเซลล์สุริยะหรือโซลาร์เซลล์ซึ่งในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้ามีราคาแพงเกินกว่าที่จะสามารถนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายแต่ตอนนี้หลายๆสิ่งกำลังจะเปลี่ยนไป

โครงการนวัตกรรม...
โครงการนวัตกรรมBigGreenของไอบีเอ็มกำลังคิดค้นวิธีการทำให้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกลงสำหรับทั้งบริษัทผู้ผลิต และบริษัทผู้จัดหาพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์

ปัจจุบันระบบเซลล์สุริยะโดยมากแปลงพลังงานโดยใช้ซิลิกอนซึ่งมีประสิทธิภาพน้อยกว่าและมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะนี้ ไอบีเอ็มกำลังพัฒนาเซลล์สุริยะแบบ “ฟิล์มบาง” (thin-film) ซึ่งเป็นชุดเซลล์สุริยะราคาประหยัดที่ไม่ได้ใช้ซิลิกอนซึ่งมีจำนวนจำกัดและราคาแพง เซลล์สุริยะแบบฟิล์มบางนี้มีความบางกว่าเซลล์สุริยะแบบแผ่นซิลิกอนถึง 100 เท่า และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าอีกด้วย

ไอบีเอ็มกำลังทำโปรเจกต์ที่จะช่วยสร้างเซลล์สุริยะแบบฟิล์มบางรุ่นใหม่ ซึ่งสามารถจัดเรียงไว้บนแผงรองรับที่ยืดหยุ่นได้ ทำให้สามารถติดตั้งไว้ตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หลังคา ผนังอาคาร หน้าต่าง โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก รถยนต์ หรือแม้กระทั่งเสื้อผ้าได้อีกด้วย

เซลล์สุริยะแบบฟิล์มบางนี้ถูก “พิมพ์”ไว้บนแผงที่ม้วนงอได้จึงไม่ต้องใช้กระบวนการผลิตเซลล์สุริยะแบบเก่าซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้พลังงานและสารเคมีจำนวนมาก

ไอบีเอ็มใช้เลนส์ขนาดใหญ่เพื่อรวมพลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยเลียนแบบจากเด็กที่ใช้แว่นขยายเพื่อเผาใบไม้หรือจุดกองไฟ ซึ่งได้ค่าพลังงานเทียบเท่ากับแสงจากดวงอาทิตย์ 2,300 ดวง บนเซลล์สุริยะขนาด 1 ตารางเซนติเมตร นับเป็นพื้นที่เซลล์สุริยะที่เล็กที่สุดเท่าที่เคยมีมา จากนั้น พลังงานดังกล่าวจะถูกแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า 75 วัตต์ ซึ่งมีค่าประมาณ 5 เท่าของพลังงานที่ได้จากเซลล์สุริยะรุ่นเก่า ที่เรียกว่า Concentrator Photovoltaics หรือ CPV และเป็นเซลล์สุริยะที่มีขนาดเล็กที่สุดในปัจจุบัน

เทคโนโลยีการรวมพลังงานแสงอาทิตย์คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดสำหรับโรงผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมอุณหภูมิ ดังนั้น ไอบีเอ็มจึงคิดหาวิธีระบายความร้อนออกจากเซลล์สุริยะขนาดจิ๋ว เพราะการรวมแสงอาทิตย์ในระดับที่เทียบเท่ากับดวงอาทิตย์ 2,300 ดวง บนพื้นที่ขนาดเล็กย่อมจะก่อให้เกิดความร้อนสูงมากจนสามารถละลายเหล็กกล้าได้ แต่ไอบีเอ็มได้อาศัยนวัตกรรมจากงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการระบายความร้อนออกจากชิปคอมพิวเตอร์เข้าช่วย จึงทำให้สามารถลดอุณหภูมิของเซลล์สุริยะจากกว่า 1,600 องศาเซลเซียส ให้เหลือเพียง 85 องศาเซลเซียสเท่านั้น

Company Related Links : IBM
แหล่งข่าว ผู้จัดการออนไลน์

No comments:

Post a Comment